ไข้หวัดใหญ่นอกฤดูกาล
ไข้หวัดใหญ่นอกฤดูกาล
เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ติดต่อกันง่าย ผ่านทางละอองฝอยจากการพูดคุย ไอ จาม จากรายงานกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 256728 ธันวาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วย 6 แสนกว่าราย อัตราป่วยประมาณ 1000 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 51 ราย
โดยปกติจะพบการระบาดในช่วงอากาศเย็น ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว แต่ในช่วงปี 2567 พบอุบัติการณ์ป่วยไข้หวัดใหญ่ในช่วงต้นปีเพิ่มขึ้น และมีการระบาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
อาการของไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย น้ำมูก ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวได้ โดยมีอาการนาน 2-14 วัน บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบและเสียชีวิตได้
บุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ คือ
- อายุมากกว่า 65 ปี
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคทางสมอง เบาหวาน โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โรคไต โรคตับ เป็นต้น
- มวลน้ำหนักตัวมากกว่า 40
- หญิงตั้งครรภ์
ในบุคคลที่มีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถซื้อแผ่นตรวจจากร้านขายยาหรือไปโรงพยาบาลเพื่อได้รับการวินิจฉัย ในบุคคลที่แข็งแรงดี ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ ให้พักอยู่ที่บ้าน รับประทานยาตามอาการ พักผ่อน เว้นระยะห่างจากคนใกล้ชิด เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ แต่ในบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนให้รับการรักษาโดยยาต้านไวรัส
การป้องกัน
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยฉีดช่วงเดือนไหนก็ได้ เนื่องจากในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งปี
WeNature
Your Daily Dose of Vitality
วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์