Share

รู้ทันโรค Burnout จัดการอย่างไร

Last updated: 7 Nov 2024
324 Views

Burnout คืออะไร
ภาวะเบิร์นเอ้าท์ (burnout syndrome) หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโรค คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งนอกจากภาวะเบิร์นเอ้าท์จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพในหลายด้าน ได้แก่

1.       นอนไม่หลับ
2.       เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง
3.       เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวาน
4.       อาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง ทำให้ขาดสมาธิ และความจำไม่ดี

Burnout เกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะ burnout เกิดจากการไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้ โดยปัจจัยเสี่ยงของภาวะ burnout ได้แก่ ผู้ที่มีบุคลิกภาพชนิดเอ (type A personality behavior) ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบ ชอบความสมบูรณ์แบบ และผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ neuroticism หรือ ผู้ที่มีบุคลิกที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความรู้สึกวิตกกังวล หรือขี้กลัว ทำให้ปรับตัวยาก นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีปัญหาครอบครัวและมีหน้าที่รับผิดชอบหลายด้าน เช่น ต้องเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดาก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะ burnout ได้ง่ายยิ่งขึ้น

สัญญาณเตือนของภาวะ burnout
ควรสำรวจตนเองว่ามีอาการของภาวะ burnout หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและปัญหาด้านสุขภาพ อาการของภาวะ burnout ได้แก่

1)รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย
2)รู้สึกวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า
3)รู้สึกเหินห่างกับผู้ร่วมงาน
4)มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ
5)ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
6)ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาลดลง
7)นอนไม่หลับ

ทำอย่างไรเมื่อมีภาวะ burnout

  • พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อคุณ burnout คือการเปิดใจและพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานถึงสถานการณ์และปัญหาที่คุณต้องเผชิญอยู่เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากบ่อยครั้งเพื่อนร่วมงานของคุณอาจไม่รู้ถึงความรู้สึกและความต้องการของคุณ นอกจากนั้นการพูดคุยอย่างเปิดใจ ทำให้คุณได้ระบายความเครียด และความกดดันออกมา ทำให้ความเครียดที่สะสมอยู่ลดลงได้

  • ปรึกษาครอบครัว

การปรึกษาครอบครัวและคนใกล้ชิดอาจทำให้คุณค้นพบทางออกที่คาดไม่ถึง เนื่องจากหากคุณมีภาวะเครียด ซึมเศร้าหรือเหนื่อยล้ามาก ๆ จะทำให้การคิดวิเคราะห์ในการจัดการกับปัญหาลดลง รวมถึงอาจใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแก้ปัญหา

  • ปรับทัศนคติ

ควรปรับทัศนคติให้มีความยืดหยุ่น ลดความสมบูรณ์แบบ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่ด่วนตัดสินใครจะทำให้ความเครียดลดลงได้

  • เหนื่อยนักก็พักก่อน

ควรมีเวลาพักผ่อนและหยุดการทำงานทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้ามานาน ลดการเล่นมือถือและโซเชียลมีเดีย และหาวิธีผ่อนคลายวิธีอื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ หรือการนั่งสมาธิก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีและยังช่วยฝึกจิตใจให้สงบสุขอีกด้วย

  • หันมาใส่ใจสุขภาพ

1.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดได้อย่างมากเนื่องจากเมื่อคุณออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาท เช่น เอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย และยังทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย

2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (mediterranean diet) ที่เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่วบางชนิด ธัญพืชไม่ฟอกสี น้ำมันมะกอกและไวน์แดง จะส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น ลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย

3.รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เนื่องจากสังคมในปัจจุบัน เป็นสังคมที่เร่งรีบ ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดเมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ร่างกายสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ช่วยเสริมการทำงานของสมอง ทำให้ความคิดไวขึ้นอีกด้วย

หากยังมีอาการ burnout ทั้งที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและการดำเนินชีวิตแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจาก burnout อาจเป็นอาการของโรคหรือความผิดทางกายได้ เช่น ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ เป็นต้น


ด้วยความห่วงใยจากใจ

WeNature
Wellness Starts with Nature

 

เอกสารอ้างอิง

1.Khammissa RAG, Nemutandani S, Feller G, Lemmer J, Feller L. Burnout phenomenon: neurophysiological factors, clinical features, and aspects of management. J Int Med Res. 2022 Sep;50(9):3000605221106428. doi: 10.1177/03000605221106428.

2.World Health Organization. Burn-out an occupational phenomenon: International Classification of Diseases, 2019. May, 2019

3.Aronsson G, Theorell T, Grape T, Hammarström A, Hogstedt C, Marteinsdottir I, et al. A systematic review including meta-analysis of work environment and burnout symptoms. BMC Public Health. 2017 Mar 16;17(1):264. doi: 10.1186/s12889-017-4153-7.

 


Related Content
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว and นโยบายคุกกี้
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy