พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) โพรไบโอติกส์ (Probiotics) และโพสต์ไบโอติกส์ (Postbiotics) ต่างกันอย่างไร
จุลินทรีย์คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา เป็นต้น แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่พบมากในร่างกาย ตำแหน่งที่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่เป็นปกติ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น โดยแหล่งที่มีจุลินทรีย์ในร่างกายอาศัยอยู่มากที่สุดคือ ระบบทางเดินอาหาร
ด้วยปริมาณและความหลากหลายทางสายพันธุ์ของจุลินทรีย์จึงส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้ปกติและผิดปกติได้ แบคทีเรียในทางเดินอาหารมีบทบาทหลายอย่าง เช่น การย่อยอาหาร การสร้างกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids) ที่เป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การสร้างวิตามิน และการรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics)
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารที่รับประทานแล้วไม่ถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็ก เคลื่อนที่เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง เกิดกระบวนการย่อยหมักโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ในลำไส้ใหญ่ เกิดการสร้างกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงเป็นแหล่งพลังงานของแบคทีเรียในลำไส้ ให้สามารถกำจัดแบคทีเรียที่ไม่ดีต่อร่างกายออกไปได้ นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า พรีไบโอติกส์สามารถลดความรุนแรงจากภาวะซึมเศร้า โรคลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ ตัวอย่างพรีไบโอติกส์ เช่น กระเทียม หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง นม ข้าว ถั่ว งา ลูกเดือย ข้าวโพด ใยอาหารจากผัก เป็นต้น
โพรไบโอติกส์ (Probiotics)
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ จุลินทรีย์มีชีวิตขนาดเล็กซึ่งเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยย่อยอาหาร ปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี สายพันธุ์แบคทีเรียที่จัดเป็นโพรไบโอติกส์ ได้แก่ แบคทีเรียกลุ่มแล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
แบคทีเรียหลายสายพันธุ์ส่งเสริมสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ กาบา (GABA) เซโรโทนิน (serotonin) โดพามีน (dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine)
กาบาเป็นสารสื่อประสาทที่สัมพันธ์กับภาวะผ่อนคลาย ถ้ามีปริมาณน้อยเกินไปจะส่งผลให้เกิดความกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ โพรไบโอติกส์ที่มีผลต่อการสร้างกาบา เช่น Lactobacillus plantarum, Lactobacillus paracasei, Lactobacillus rhamnosus และ Lactobacillus brevis เป็นต้น
เซโรโทนิน โดพามีน และนอร์เอพิเนฟรินเป็นสารสื่อประสาทที่สัมพันธ์กับอารมณ์และการเรียนรู้ หากขาดตัวใดตัวหนึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สมดุลในด้านของอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ แบคทีเรียที่มีผลต่อการทำงานของเซโรโทนิน เช่น Lactobacillus plantarum, Lactococcus lactis subsp. Cremoris, Morganella morganii เป็นต้น แบคทีเรียที่มีผลต่อการทำงานของโดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน เช่น Morganella morganii, Bacillus spp. เป็นต้น
โพสต์ไบโอติกส์ (Postbiotics)
โพสต์ไบโอติกส์ (Postbiotics) คือจุลินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ไม่มีชีวิต แต่ยังคงคุณสมบัติในการปรับสมดุลการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน รักษาสมดุลจุลินทรีย์ตัวดีในทางเดินอาหาร รักษาสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง เป็นต้น
หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์การอ่านบทความนี้ อย่าลืมออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยความห่วงใยจากใจ
WeNature
Wellness Starts with Nature
เอกสารอ้างอิง
1.Agata Chudzik, Anna Orzylowska, Radoslaw Rola and Greg J. Stanisz. Probiotics, Prebiotics and Postbiotics on Mitigation of Depression Symptoms: Modulation of The Brain-Gut-Microbiome Axis. Biomolecules 2021(11): 1000.