Share

ป่วยง่าย ร่างกายอ่อนแอ อาจเพราะร่างกายขาดวิตามินดี

Last updated: 6 Nov 2024
119 Views

ภาวะขาดหรือพร่องวิตามินดีเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีการประมาณการณ์ว่าประชากรโลกมากกว่า 1 พันล้านคนมีภาวะพร่องวิตามินดี ซึ่งภาวะพร่องวิตามินดีได้รับการสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากวิตามินดีไม่เพียงมีบทบาทสำคัญต่อสมดุลแคลเซียมและมวลกระดูก แต่การขาดวิตามินดียังมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อ ซึ่งจากรายงานพบว่าภาวะพร่องวิตามินดีสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศในเขตร้อนที่มีแสงแดดจ้าตลอดทั้งวัน แต่จากการศึกษาปี 2562 ถึง 2563 พบว่าประชากรไทยมีภาวะพร่องวิตามินดีร้อยละ 30 ถึง 40 ซึ่งปัจจุบันกลุ่มที่มีภาวะพร่องวิตามินดีมากที่สุดคือ กลุ่มอายุน้อย เพศหญิง และผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยรูปแบบการดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับวิตามินดีในร่างกายของประชากรไทย

ทำไมร่างกายต้องการวิตามินดี
วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำให้การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อดำเนินไปอย่างปกติ

เราสามารถหาวิตามินดีได้จากแหล่งใดบ้าง
วิตามินดีในร่างกายได้รับมาจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนัง และจากอาหาร เช่น ปลาทะเลบางชนิด (ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล) ไข่แดง เนื้อหมู เนื้อวัว และตับ เมื่อร่างกายได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตบี (ultraviolet B, UVB) จากแสงอาทิตย์ ร่างกายจะเปลี่ยนไขมันเป็นสารตั้งต้นของวิตามินดีสาม (vitamin D3) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินดีสามอย่างรวดเร็วโดยกระบวนการที่อาศัยความร้อน ส่วนวิตามินดีที่ได้จากอาหารส่วนมากจะเป็นวิตามินดีสอง (vitamin D2) วิตามินดีทั้งสองชนิดจะถูกเปลี่ยนที่ตับเป็นวิตามินดีไหลเวียนในกระแสเลือด ส่งผ่านไปที่ไตเพื่อเปลี่ยนรูปของวิตามินดีให้เป็นวิตามินดีที่ร่างกายนำไปใช้ได้ดีที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินดี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินดี โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผิวหนังสัมผัสกับแสง อัลตราไวโอเลตลดลง ได้แก่
1.       การทาครีมกันแดด
2.       ไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
3.       การมีผิวสีเข้ม
4.       การอาศัยอยู่ในประเทศที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ
5.       การใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายอย่างมิดชิด

นอกจากนี้การอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินดี เนื่องจากมลภาวะในอากาศส่งผลให้ปริมาณของรังสีอัลตราไวโอเลตบีที่ใช้ในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังลดลง ทำให้ผิวหนังมีเวลาน้อยในการสัมผัสกับแสงแดด

วิตามินดีกับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดำเนินไปอย่างปกติ ดังนั้นผู้ที่มีภาวะพร่องวิตามินดีจะมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโควิด (COVID-19) ได้ง่ายขึ้น มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะมีโอกาสติดเชื้อโควิดสูงกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยที่มีระดับวิตามินดีปกติอีกด้วย

เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ มีการศึกษาพบว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยพบว่าอัตราการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่รับประทานทานวิตามินดีเสริมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานวิตามินดีอย่างมีนัยสำคัญ และวิตามินดียังช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายจากโรคเร็วขึ้น

ดังนั้นการรับประทานวิตามินดีเสริมจะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของการติดเชื้อโควิดและไข้หวัดใหญ่ได้ โดยจากการศึกษาทางคลินิกพบว่าการรับประทานวิตามินดีเสริมวันละ 400 ถึง 1000 หน่วยสากล เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือน สามารถลดภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันได้

ถ้าท่านมีประวัติการติดเชื้อโควิดหรือไข้หวัดใหญ่บ่อย ๆ สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินดีเป็นส่วนประกอบเสริมวันละ 400 หน่วยสากลหรือ 10 ไมโครกรัม และอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำและหาเวลาพักผ่อนด้วยนะคะ


ด้วยความห่วงใยจากใจ

WeNature
Wellness Starts with Nature

 

เอกสารอ้างอิง

1.Holick MF. The vitamin D deficiency pandemic: Approaches for diagnosis, treatment and prevention. Rev Endocr Metab Disord. 2017 Jun;18(2):153-165. doi: 10.1007/s11154-017-9424-1.

2.Ao T, Kikuta J, Ishii M. The Effects of Vitamin D on Immune System and Inflammatory Diseases. Biomolecules. 2021 Nov 3;11(11):1624. doi: 10.3390/biom11111624.

3.Bilezikian JP, Binkley N, De Luca HF, Fassio A, Formenti AM, El-Hajj Fuleihan G, et al. Consensus and Controversial Aspects of Vitamin D and COVID-19. J Clin Endocrinol Metab. 2023 Apr 13;108(5):1034-1042. doi: 10.1210/clinem/dgac719.

4.Ben-Eltriki M, Hopefl R, Wright JM, Deb S. Association between Vitamin D Status and Risk of Developing Severe COVID-19 Infection: A Meta-Analysis of Observational Studies. J Am Nutr Assoc. 2022 Sep-Oct;41(7):679-689. doi: 10.1080/07315724.2021.1951891. Epub 2021 Aug 31.

5.Urashima M, Segawa T, Okazaki M, Kurihara M, Wada Y, Ida H. Randomized trial of vitamin D supplementation to prevent seasonal influenza A in schoolchildren. Am J Clin Nutr. 2010 May;91(5):1255-60. doi: 10.3945/ajcn.2009.29094.

6.Bergman P, Norlin AC, Hansen S, Rekha RS, Agerberth B, Björkhem-Bergman L, et al. Vitamin D3 supplementation in patients with frequent respiratory tract infections: a randomised and double-blind intervention study. BMJ Open. 2012 Dec 13;2(6):e001663. doi: 10.1136/bmjopen-2012-001663.

7.Camargo CA Jr, Ganmaa D, Frazier AL, Kirchberg FF, Stuart JJ, Kleinman K, et al. Randomized trial of vitamin D supplementation and risk of acute respiratory infection in Mongolia. Pediatrics. 2012 Sep;130(3):e561-7. doi: 10.1542/peds.2011-3029. Epub 2012 Aug 20.

8.Oranan Siwamogsatham, Boonsong Ongphiphadhanakul and Vin Tangpricha. Vitamin D Deficiency in Thailand, Journal of Clinical & Translational Endocrinology 2015(2): 48-49.

9.La-0r Chailurkit, nisakorn Thongmung, Prin vathesatogkit, Piyamitr Sritara and Boonsong Ongphiphadhanakul. Longtudinal Study of Vitamin D Status among Thai Individuals in A SUN-Abundant Country. Public Health in Practice 2023(6): 100439.

10.La-or Chailurkit, Boonsong Ongphiphaddhanakul and Wichai Aekplakorn. Update on Vitamin D Status in Sunshine-Abundant Thailand 2019-2020. Nutrition 2023(116):112161.

11.The National Health Service in England. Vitamin D. 2021

12.Adrien R Martineau, David A Jolliffe, Richard L Hooper, Lauren Greenberg, John F Aloia and Peter Bergman et al. Vitamin D Supplementation to Prevent Acute Respiratory Tract Infections: Systematic Review and Meta-Analysis of Individual Particular Data. BMJ 2017(356): i6583.

13.David A Jolliffe, carlos A Camargo Jr, John D Sluyter, Mary Aglipay, John F Aloia and Davaasambuu Ganmaa, et al.  Vitamin D Supplementation to Prevent Acute Respiratory Infections: A Systematic Review and Mewta-Analysis of Aggregate Data from Randomised Ciontrolled Trials. Lancet Diabetes Endocrinol 2021(9): 276-92.

14.Sophie E. Harrison, Samuel J. Oliver, Daniel S. Kashi, Alexander T. Carswell, Jason P. Edwards and Laurel M. Wentz, et al. Influence of Vitamin d Supplementation by Simulated Sunlight od Oral D3 on Respiratory Infection during Military training. Official Journal of the American College of Sports Medicine 2020(10): 1505-1516.

 


Related Content
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว and นโยบายคุกกี้
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy