ภาวะ Burnout จัดการอย่างไร
Burnout คืออะไร
ภาวะเบิร์นเอ้าท์ (burnout syndrome) หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโรค คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งนอกจากภาวะเบิร์นเอ้าท์จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพในหลายด้าน ได้แก่
1. นอนไม่หลับ
2. เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง
3. เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวาน
4. อาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง ทำให้ขาดสมาธิ และความจำไม่ดี
Burnout เกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะ burnout เกิดจากการไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้ โดยปัจจัยเสี่ยงของภาวะ burnout ได้แก่ ผู้ที่มีบุคลิกภาพชนิดเอ (type A personality behavior) ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบ ชอบความสมบูรณ์แบบ และผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ neuroticism หรือ ผู้ที่มีบุคลิกที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความรู้สึกวิตกกังวล หรือขี้กลัว ทำให้ปรับตัวยาก นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีปัญหาครอบครัวและมีหน้าที่รับผิดชอบหลายด้าน เช่น ต้องเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดาก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะ burnout ได้ง่ายยิ่งขึ้น
สัญญาณเตือนของภาวะ burnout
ควรสำรวจตนเองว่ามีอาการของภาวะ burnout หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและปัญหาด้านสุขภาพ อาการของภาวะ burnout ได้แก่
1) รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย
2) รู้สึกวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า
3) รู้สึกเหินห่างกับผู้ร่วมงาน
4) มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ
5) ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
6) ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาลดลง
7) นอนไม่หลับ
ทำอย่างไรเมื่อมีภาวะ burnout
- พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน
สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อคุณ burnout คือการเปิดใจและพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานถึงสถานการณ์และปัญหาที่คุณต้องเผชิญอยู่เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากบ่อยครั้งเพื่อนร่วมงานของคุณอาจไม่รู้ถึงความรู้สึกและความต้องการของคุณ นอกจากนั้นการพูดคุยอย่างเปิดใจ ทำให้คุณได้ระบายความเครียด และความกดดันออกมา ทำให้ความเครียดที่สะสมอยู่ลดลงได้
- ปรึกษาครอบครัว
การปรึกษาครอบครัวและคนใกล้ชิดอาจทำให้คุณค้นพบทางออกที่คาดไม่ถึง เนื่องจากหากคุณมีภาวะเครียด ซึมเศร้าหรือเหนื่อยล้ามาก ๆ จะทำให้การคิดวิเคราะห์ในการจัดการกับปัญหาลดลง รวมถึงอาจใช้อารมณ์ในการตัดสินใจแก้ปัญหา
- ปรับทัศนคติ
ควรปรับทัศนคติให้มีความยืดหยุ่น ลดความสมบูรณ์แบบ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่ด่วนตัดสินใครจะทำให้ความเครียดลดลงได้
- เหนื่อยนักก็พักก่อน
ควรมีเวลาพักผ่อนและหยุดการทำงานทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้ามานาน ลดการเล่นมือถือและโซเชียลมีเดีย และหาวิธีผ่อนคลายวิธีอื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ หรือการนั่งสมาธิก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีและยังช่วยฝึกจิตใจให้สงบสุขอีกด้วย
- หันมาใส่ใจสุขภาพ
1. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดได้อย่างมากเนื่องจากเมื่อคุณออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาท เช่น เอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย และยังทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (mediterranean diet) ที่เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่วบางชนิด ธัญพืชไม่ฟอกสี น้ำมันมะกอกและไวน์แดง จะส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น ลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
หากยังมีอาการ burnout ทั้งที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและการดำเนินชีวิตแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจาก burnout อาจเป็นอาการของโรคหรือความผิดทางกายได้ เช่น ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ เป็นต้น
นพ.จุมพล อานามนารถ
Dr. Chumpol Anamnart, MD.
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและระบบประสาท
WeNature
Your Daily Dose of Vitality
วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์
เอกสารอ้างอิง
1. Khammissa RAG, Nemutandani S, Feller G, Lemmer J, Feller L. Burnout phenomenon: neurophysiological factors, clinical features, and aspects of management. J Int Med Res. 2022 Sep;50(9):3000605221106428. doi: 10.1177/03000605221106428.
2. World Health Organization. Burn-out an occupational phenomenon: International Classification of Diseases, 2019. May, 2019
3. Aronsson G, Theorell T, Grape T, Hammarström A, Hogstedt C, Marteinsdottir I, et al. A systematic review including meta-analysis of work environment and burnout symptoms. BMC Public Health. 2017 Mar 16;17(1):264. doi: 10.1186/s12889-017-4153-7.