โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ตัวช่วยการนอนหลับ
ปัจจุบันพบว่าประชากรในวัยเรียนและวัยทำงานในประเทศไทยมีความเหนื่อยล้า วิตกกังวล นอนไม่หลับถึงร้อยละ 50 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความสามารถในการทำงาน อาหารเป็นวิธีหนึ่งที่ง่ายที่ช่วยปรับสมดุลสุขภาพจิตใจได้ จากการศึกษาพบว่าสภาวะในทางเดินอาหารส่งผลต่อการทำงานของสมอง จากการเชื่อมโยงของระบบประสาทอัตโนมัติ ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจุลินทรีย์ในลำไส้มีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงนี้ บทความนี้จะมาช่วยคุณไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ที่นอกจากจะช่วยปรับสมดุลของลำไส้แล้ว โพรไบโอติกส์สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพของสมองได้อย่างไร
โพรไบโอติกส์ คืออะไร
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีชีวิต โพรไบโอติกส์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารและการทำงานของลำไส้ ปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน และปรับสมดุลการทำงานของสมอง เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าเมื่อร่างกายเกิดความเครียดจะทำให้จุลินทรีย์บางชนิดในลำไส้ลดลงและบางชนิดเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารที่เกิดจากการสันดาปของจุลินทรีย์ในลำไส้ การรับประทานโพรไบโอติกส์ที่จำเพาะ สามารถปรับสมดุลชนิด จำนวนและสารสันดาปของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ ส่งผลดีต่อการทำงานของสมองและสภาพจิตใจ เช่น โพรไบโอติกส์บางชนิดมีผลต่อการสร้างสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งมีผลช่วยควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว ความอิ่ม การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสงบสุข และกาบา หรือ กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (Gamma-aminobutyric acid: GABA) ซึ่งมีผลช่วยชะลอการทำงานของระบบประสาท ช่วยให้สมองเกิดการผ่อนคลาย
จุลินทรีย์ตัวไหนบ้างที่จัดเป็นโพรไบโอติกส์
โพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แบคทีเรียและยีสต์ที่พบในโพรไบโอติกส์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- แบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่พบบ่อย เช่น
- แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) มีหน้าที่ช่วยในการย่อยแลคโตสและคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ ผลิตกรดแลคติกซึ่งยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย เสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยรักษาความสมบูรณ์ของเยื่อบุลำไส้
- บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และต่อสู้กับแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ผลิตกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids: SCFAs) ที่สำคัญต่อสุขภาพลำไส้ ปรับระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันการรุกรานของเชื้อโรคภายนอกจากการแย่งสารอาหารและจุดยึดเกาะ
- ยีสต์โพรไบโอติกส์ที่พบบ่อย เช่น ซัคคาโรไมซิส บูลาร์ดี (Saccharomyces boulardii) ช่วยฟื้นฟูธรรมชาติของจุลินทรีย์ในลำไส้ ผลิตสารต้านจุลชีพที่ยับยั้งแบคทีเรียและยีสต์ที่เป็นเชื้อก่อโรค เสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการรักษาและป้องกันอาการท้องร่วง
โพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยการทำงานของสมองอย่างไร
จากการศึกษาทางคลินิกได้ทำแบบทดสอบและตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองขณะหลับพบว่าหลังรับประทานโพรไบโอติกส์ Lactobacillus plantarum นาน 2 เดือน สามารถลดความเครียด ความเหนื่อยล้า อารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงคุณภาพในการนอนหลับได้
สำหรับโพรไบโอติกส์ Bifidobacterium longum หลังรับประทานนาน 2 เดือน พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับในช่วงที่มีความเครียดเรื้อรังได้
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการศึกษาประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบสมองและความจำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชัดเจนที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของการมีสุขภาพลำไส้ที่ดีกับการทำงานของสมอง ดังนั้นการรับประทานอาหารโพรไบโอติกส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลร่างกายที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ซึ่งนอกจากการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติกส์แล้ว ควรออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีใยอาหาร เพื่อให้ร่างกายมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ดี
WeNature
Your Daily Dose of Vitality
วันดี ๆ มีได้ทุกวันด้วยวีเนเจอร์